วิธีบ่มคอนกรีต บ่มยังไงให้คอนกรีตยังมีคุณภาพดี
ในช่วงนี้มีฝนแทบจะทุกวันเลยนะคะ เรามาดูวิธีบ่มคอนกรีตกันค่ะว่าบ่มยังไงให้คอนกรีตยังมีคุณภาพดี
การบ่มคอนกรีต คือ วิธีการควบคุมและป้องกันไม่ให้น้ำส่วนที่เหลือจากการทำปฏิกิริยาระเหยออก เพื่อให้ปฏิกิริยาไฮเดรชั่นของซีเมนต์เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ส่งผลต่อการพัฒนากำลังอัดของคอนกรีตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ช่วยลดการหดตัวของคอนกรีต ทำให้คอนกรีตมีความทนทานและป้องกันการแตกร้าวของคอนกรีตได้
การบ่มคอนกรีต มี 3 ลักษณะ คือการเพิ่มความชื้นให้คอนกรีต การป้องกันการเสียน้ำของคอนกรีต และ การเร่งกำลังอัด
1. การบ่มโดยการเพิ่มความชื้นให้คอนกรีต
การบ่มลักษณะนี้จะเพิ่มความชื้นให้กับผิวคอนกรีตโดยตรง เพื่อทดแทนการระเหยของน้ำออกจากคอนกรีต ซึ่งทำได้หลายวิธีคือ การขังน้ำ การฉีดน้ำหรือรดน้ำ และ การคลุมด้วยวัสดุเปียกชื้น
2. การบ่มโดยการป้องกันการเสียน้ำจากเนื้อคอนกรีต
วิธีการนี้ใช้การผนึกผิวของคอนกรีต เพื่อป้องกันมิให้ความชื้นจากคอนกรีตระเหยออกจากเนื้อคอนกรีต ซึ่งทำได้หลายวิธี คือ การบ่มในแบบหล่อ การใช้กระดาษกันน้ำซึม การใช้แผ่นผ้าพลาสติกคลุม และ การใช้สารเคมีเคลือบผิวคอนกรีต
3. การบ่มแบบเร่งกำลังอัด
หรือ การบ่มคอนกรีตที่อุณหภูมิสูง
สามารถเร่งอัตราการเพิ่มกำลังอัดได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นที่นิยมใช้ในการผลิตคอนกรีตสำเร็จรูป เช่น ท่อ คาน และแผ่นพื้น เป็นต้น
ระยะเวลาของการบ่มคอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย
ประเภทการใช้งาน | ||||
*ปูนซีเมนต์ผสม | **ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ ประเภท 1 | ***ปูนซีเมนต์ ปอร์ตแลนด์ ประเภท 3 | ||
งานธรรมดา | ||||
เสา คาน และกำแพง | 7 วัน | 7 วัน | 4 วัน | |
พื้นบ้าน พื้นถนนในบ้าน ฯลฯ | 8 วัน | 8 วัน | 4 วัน | |
ถนนชั้นหนึ่ง ลานจอดหรือทางวิ่งของเครื่องบิน | – | 14 วัน | 7 วัน | |
เสาเข็มสำหรับที่นำไปตอกเป็นฐานราก | 21 วัน | 14 วัน | 7 วัน | |
งานพิเศษ | ||||
แผ่นพื้นบางๆ | 14 วัน | 14 วัน | 7 วัน | |
รูปหล่อที่เล็กบางซึ่งใช้ปูนซีเมนต์ผสมมาก | – | 21 วัน | 7 วัน |
*ปูนซีเมนต์ผสม คือ ปูนนำมาใช้ในงานก่อ โบก ฉาบ หรืองานก่อสร้างทั่วไป ที่ไม่ต้องการรับน้ำหนักมาก
**ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 คือ ปูนซีเมนต์ที่ใช้ในงานก่อสร้างคอนกรีตทั่วๆไป เช่น อาคารที่พักอาศัยทั่วไป ถนน ทางเท้า กำแพง ฯลฯ ใช้ในงานที่อยู่ในสภาพอากาศปกติ
***ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 3 คือ ปูนซีเมนต์ที่ให้กำลังอัดสูงเร็ว รับแรงได้เร็วกว่าปูนซีเมนต์ประเภท 1 จึงเป็นที่นิยมในการนำไปใช้งานที่ต้องการความรวดเร็ว เร่งด่วน และคล่องตัว
ที่มา : http://www.coe.or.th/e_engineers/knc_detail.php?id=34
https://cpacacademy.com/download/cpacacademy_com/e-contech%20u10.pdf